วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556


ส่วนที่ 2
เนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ความรู้เกี่ยวกับภัยแล้ง
               ภัยแล้งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติรูปแบบหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะขยายวงกว้างไปถึงระดับประเทศในที่สุดอีกทั้งยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำในประเทศไทยเราและจะมีแนวโน้มที่จะเกิดมากขึ้นไปเรื่อยๆด้วย
ความหมายของภัยแล้ง
                ภัยแล้ง หมายถึง ความแห้งแล้งของลมฟ้าอากาศ อันเกิดจากการที่มีฝนน้อยกว่าปกติ หรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เป็นระยะเวลานานกว่าปกติ และครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้าง ทำให้เกิดการ ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ พืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ขาดน้ำ ทำให้ไม่เจริญเติบโตตามปกติเกิดความเสียหาย และความอดอยากทั่วไป ความแห้งแล้งเป็นภัยธรรมชาติประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางของประเทศไทย เพราะเป็นบริเวณที่อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เข้าไปไม่ถึง ทำให้เกิดความอดอยากแร้นแค้น ซึ่งหากปีใดที่ไม่มีพายุเคลื่อนผ่านเลยก็จะก่อให้เกิดความแห้งแล้งรุนแรงมากขึ้น อันเนื่องมาจากฝนทิ้งช่วงยาวนาน โดยภัยแล้งที่เกิดขึ้นทุกปีจะอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนต่อเนื่องถึงเดือนกรกฎาคม ในช่วงดังกล่าวพืชไร่ที่เพาะปลูกจะขาดน้ำได้รับความเสียหายมนุษย์- สัตว์ ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพรวมถึงด้านเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ความรุนแรงจะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน เช่น ความชื้นในอากาศ ความชื้นในดิน ระยะเวลาที่เกิดความแห้งแล้ง และขนาดของพื้นที่ที่มีความแห้งแล้ง เป็นต้น
ประเภทของภัยแล้ง
               1. ภัยแล้งเชิงอุตุนิยมวิทยา(meteorological  drought) เป็นความแห้งแล้งที่เกิดจากการขาดแคลนฝนเนื่องจากฝนตกน้อยผิดปกติเป็นระยะเวลานาน
               2. ภัยแล้งเชิงเกษตรกรรม(agricultural drought)เป็นภาวะที่พืชผลขาดน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนรวมและการกระจายตัวของฝนน้อยกว่าผิดปกติ จึงมีผลกระทบโดยตรงกับผลผลิตทางการเกษตรและการทำฟาร์ม เพราะน้ำในดินระเหยออกไป ระดับน้ำใต้ดินและหน้าดินจึงสูญเสียความชื้น ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรลดลง
                3. ภัยแล้งเชิงอุทกวิทยา(hydrological drought) เกิดจากปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆหรือน้ำใต้ดินลดลงเนื่องจากมีความต้องการเก็บน้ำไว้ใช้ในกิจกรรมต่างๆเช่น เพื่อการสร้างเขื่อนหรือขุดแม่น้ำใหม่
                4. ภัยแล้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม(socioeconomic  drought) เกิดจากความต้องการใช้น้ำในทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเช่น ในการเกษตร ผลิตไฟฟ้า เป็นต้น เนื่องด้วยความแตกต่างของสภาพภุมิอากาศ ทำให้ขาดแคลน
ช่วงของการเกิดภัยแล้งในประเทศไทย
           1. ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องถึงฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่หมดฤดูฝน ( ช่วงกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป) ในบริเวณตอนบนของประเทศ และสิ้นสุดลงในฤดูร้อน ( ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม)  ซึ่งฝนจะตกเพียงเล็กน้อย และตกในบางส่วนเท่านั้น จึงเกิดภาวะขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี
            2. ช่วงฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เข้าฤดูฝน( ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป) จะเกิดฝนทิ้งช่วง และปริมาณฝนน้อย (ช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม) โดยมักเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ อีกทั้งช่วงเวลานี้ยังเป็นช่วงเพาะปลูก ภัยแล้งจึงส่งผลกระทบในด้านเกษตรกรรมมาก
เกณฑ์การเตือนภัยแล้ง
แห้งแล้ง หมายถึง ปริมาณฝนรวมรายเดือนต่ำกว่าปกติ 40.1-80 เปอร์เซ็นต์
แห้งแล้งมาก หมายถึง ปริมาณฝนรวมรายเดือนต่ำกว่าปกติ 80.1-90 เปอร์เซ็นต์
แห้งแล้งมากที่สุด หมายถึง ปริมาณฝนรวมรายเดือนต่ำกว่าปกติ มากกว่า90เปอร์เซ็นต์
พื้นที่แล้งซ้ำซาก
            พื้นที่แล้งซ้ำซากหมายถึงพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งด้านการเกษตรและเป็นพื้นที่เกิดขึ้นเป็นประจำหรือบ่อยครั้ง ความแห้งแล้งด้านการเกษตร หมายถึง สภาวะที่มีฝนน้อยหรือไม่มีฝน ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำสำหรับพืช ทำให้พืชได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง 
ฝนแล้ง มีความหมายอย่างไร
              ฝนแล้ง คือ ภัยธรรมชาติซึ่งเกิดจาก ฝนแล้ง ไม่ตกตามฤดูกาล มีสาเหตุจาก พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยน้อย ร่องความกดอากาศต่ำมีกำลังอ่อน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังอ่อน เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน หรือเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญรุนแรง ทำให้ฝนน้อยกว่าปกติ ทำให้ผลผลิตการเกษตรเสียหาย ขาดน้ำ เหี่ยวเฉา แห้งตายในที่สุด โรคพืชระบาด คุณภาพด้อยลง อุตสาหกรรมเกษตรเสียหาย ขาดแคลนอุปโภคบริโภค กระทบกับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
สาเหตุที่ทำให้เกิดภัยแล้ง
                ภัยแล้งมีเหตุปัจจัยมากมายที่มีส่วนสำคัญในการชักนำให้เกิดขึ้นได้โดยแบ่งออกเป็น2ประเภทใหญ่ๆได้แก่ภัยแล้งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิ  และภัยธรรมชาติ เป็นต้น และภัยที่เกิดขึ้นด้วยการกระทำของมนุษย์เช่นการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า  การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม และผลกระทบจากปรากฎการณ์เรือนกระจก เป็นต้นส่วนในประเทศไทยนั้นภัยแล้งมักเกิดขึ้นจากฝนแล้งและฝนทิ้งช่วง ( ฝนทิ้งช่วงหมายถึงช่วงที่ปริมาณฝนตกน้อยกว่าหนึ่งมิลลิเมตรต่อวันและมีระยะติดต่อกันนานเกิน 15วันในช่วงฤดูฝนมักเกิดสูงในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฏาคม)(กองบรรณาธิการ.266,พฤศจิกายน 2552:61)

รวมถึงสาเหตุดังต่อไปนี้ 
            1. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม โดยในฤดูฝน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ตกน้อย ทิ้งช่วง ไม่กระจายสม่ำเสมอ ทำให้มีน้ำเก็บกักในแหล่งน้ำน้อย น้ำและความชื้นในดินมีน้อย ในฤดูแล้งอากาศที่ร้อนจัดทำให้การสูญเสียน้ำจากการระเหยมีมาก ทำให้น้ำในแหล่งน้ำลดปริมาณลงจนถึงเหือดแห้งไป
            2. ความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น จากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ความต้องการปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพและการใช้ทรัพยากรจึงมีมาก ความต้องการน้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ จึงมีมากตามไปด้วย ในขณะที่แหล่งเก็บกักน้ำมีจำกัดไม่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กัน

            3 .แหล่งเก็บกักน้ำตามธรรมชาติและที่สร้างขึ้น มีน้อยไม่เพียงพอต่อการเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจเกิดจาก ข้อจำกัดของภูมิประเทศที่ไม่มีลำน้ำธรรมชาติ หรือไม่เหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ หรือแหล่งน้ำได้รับการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม มีขนาดเล็กเกินไป ใช้ประโยชน์ได้ไม่เพียงพอ

          4 .แหล่งเก็บกักน้ำตามธรรมชาติและที่สร้างขึ้นเสื่อมสภาพ ตื้นเขิน ชำรุด ทำให้มีประสิทธิภาพต่ำ เก็บกักน้ำไว้ได้น้อยจนถึงไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้  การรองน้ำฝนจากหลังคาบ้านเพื่อเก็บเอาไว้ใช้อุปโภคบริโภคไม่สามารถทำได้ เพราะแร่ใยหินที่ใช้ผลิตกระเบื้องมุงหลังคาเป็นสารก่อมะเร็ง อีกทั้งในเขตเมืองก็จะมีฝุ่นควันจากเครื่องยนต์รถมาก

          5 .การทำลายป่าต้นน้ำลำธาร ทำให้ไม่มีต้นไม้ที่ทำหน้าที่ดูดซับน้ำฝนลงสู่ใต้ผิวดิน อุ้มน้ำเอาไว้ และยึดดินให้มีความมั่นคง ก็จะขาดแคลนน้ำที่จะถูกปลดปล่อยออกมาสู่ลำธารและลำน้ำในช่วงฤดูแล้ง
          
          6. คุณภาพน้ำไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น น้ำเค็ม น้ำขุ่น เป็นสนิม สกปรก หรือเน่าเสีย

          7. การขาดจิตสำนึกในการใช้น้ำและการอนุรักษ์น้ำ  เช่นใช้น้ำไม่ประหยัด ใช้น้ำอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม  การบุกรุกทำลายแหล่งน้ำ ที่พบบ่อย ๆ คือ การลงจับปลาในแหล่งน้ำทำให้น้ำขุ่น หรือถ้าหากระบายน้ำออกเพื่อจับปลา ก็จะไม่มีน้ำเหลืออยู่อีกต่อไป

            8 .การวางผังเมืองไม่เหมาะสม โดยแบ่งแยกพื้นที่เพื่อการทำกิจกรรมไม่เหมาะสมสอดคล้องกับแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ประโยชน์ ขาดการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำที่เหมาะสมไว้ล่วงหน้า

            9 .การบริหารจัดการน้ำ ถ้าเกิดความผิดพลาดในการพร่องน้ำระบายน้ำ ทำให้มีน้ำเหลือเก็บกักไว้น้อย
           10. การพัฒนาแหล่งน้ำที่ไม่เหมาะสม โดยในระยะเวลาช่วงต้นๆ ของการพัฒนาแหล่งน้ำ อาจเน้นเรื่องการเร่งรัดการพัฒนามากเกินไป โดยต้องการสร้างจำนวนที่มาก ใช้งบประมาณน้อยๆ เสร็จเร็วๆ  เป็นการเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ทำให้มีแหล่งน้ำจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เช่น ขนาดเล็กเกินไปเก็บกักน้ำได้น้อย บางแห่งอยู่ไกลจากแหล่งชุมชนเกินไป

             นอกจากนี้ปัญหาสำคัญที่พบจากการพัฒนาแหล่งน้ำคือ การก่อสร้างฝายแล้วไม่สร้างประตูระบายทรายไว้ด้วย ทำให้มีตะกอนตกจมด้านหน้าฝายมาก อีกทั้งทำให้ไม่สามารถระบายน้ำจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่หรือขนาดกลาง ลงไปช่วยพื้นที่ตอนล่างที่อยู่ไกลออกไปที่มีฝายปิดกั้นลำน้ำอยู่เป็นระยะๆได้  เพราะจะต้องระบายน้ำลงไปในปริมาณมาก เพื่อให้ล้นข้ามสันฝายที่มีระดับสูงออกไป เกิดการสูญเสียจากการระเหยรั่วซึม และการไหลบ่าแตกทุ่งออกไปปริมาณสูง ซึ่งหากมีประตูระบายทรายก็จะระบายน้ำลงไปช่วยเหลือปริมาณน้อยๆ ไม่ต้องให้มีน้ำเต็มลำน้ำเพราะเปิดประตูระบายทรายได้

ผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง
                  ภัยแล้งในประเทศไทยมีผลกระทบโดยตรงกับการเกษตรและแหล่งน้ำ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศ ที่ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ภัยแล้งจึงส่งผลเสียหายต่อกิจกรรมทางการเกษตร เช่น พื้นดินขาดความชุ่มชื้น พืชขาดน้ำ พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพต่ำ รวมถึงปริมาณลดลง ส่วนใหญ่ภัยแล้งที่มีผลต่อการเกษตร มักเกิดในฤดูฝนที่มีฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ผลกระทบที่เกิดขึ้นรวมถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ ดังนี้
                 1. ด้านเศรษฐกิจ สิ้นเปลืองและสูญเสียผลผลิตด้านเกษตร ปศุสัตว์ ป่าไม้ การประมง เศรษฐกิจทั่วไป เช่น ราคาที่ดินลดลง โรงงานผลิตเสียหาย การว่างงาน สูญเสียอุตสาหกรรมการ ท่องเที่ยว พลังงาน อุตสาหกรรมขนส่ง
                  2. ด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสัตว์ต่าง ๆ ทำให้ขาดแคลนน้ำ เกิดโรคกับสัตว์ สูญเสียความหลากหลายพันธุ์ รวมถึงผลกระทบด้านอุทกวิทยา ทำให้ระดับและปริมาณน้ำลดลง พื้นที่ชุ่มน้ำลดลง ความเค็มของน้ำเปลี่ยนแปลง ระดับน้ำในดินเปลี่ยนแปลง คุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลง เกิดการกัดเซาะของดิน ไฟป่าเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพอากาศและสูญเสียทัศนียภาพ เป็นต้น
                  3. ด้านสังคม เกิดผลกระทบในด้านสุขภาพอนามัย เกิดความขัดแย้งในการใช้น้ำและการจัดการคุณภาพชีวิตลดลง
                                                 
                                                 การดำรงชีวิตของประชาชน
1. การขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค
2. ผลิตผลทางการเกษตรลดลง ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ทำให้สินค้าบางอย่างขาดแคลน ทำให้ราคาสินค้าอื่นสูงขึ้น
3. รัฐต้องสูญเสียงบประมาณช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนสูง
4. ประชาชนไม่มีงานทำ ต้องอพยพเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม
5. การระเหยของน้ำจากพื้นดิน มีผลกระทบทำให้พื้นดินขาดน้ำ พืชอาจล้มตายและผลผลิตลดลงได้
6. การประกอบการด้านอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก เพราะขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการผลิตพลังงาน

                                           
                                                      ภัยซ้ำซ้อนที่เกิดจากภัยแล้ง          
               1. เกิดไฟป่าขึ้น เช่น ต้นไผ่เสียดสีกัน หรือฟ้าผ่าทุ่งหญ้าแห้ง หรือเกษตรกรจุดไฟเผาฟางข้าว เผาหญ้า ทำให้เกิดลุกลามกว้างขวาง บางทีอาจลุกลามไหม้อาคารบ้านเรือน ไร่นา เสียหาย ควันไฟที่เผาไหม้ข้างทางมีผลเสียต่อทัศนะวิสัย ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางจราจรขึ้นได้ เป็นต้น

             2. มีลักษณะสภาวะของอากาศแปรปรวน เนื่องมาจากอากาศร้อนจัดติดต่อกันหลายๆ วัน ทำให้เกิดการสะสมความร้อนในบรรยากาศบริเวณหนึ่งไว้มาก เกิดลมสองกระแสพัดสอบเข้าหากัน ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดเป็นแนวตีบของลมจะเกิดพายุฤดูร้อน หรือพายุฟ้าคะนองขึ้น มีลมกระโชกแรงเป็นพักๆ มีฝนตกหนัก ฟ้าผ่า เกิดในระยะสั้นไม่เกิน 2 ชั่วโมง บางครั้งกำลังลมทำให้พัดอาคารบ้านเรือน ทรัพย์สินเสียหายได้ อาจมีลูกเห็บตกเกิดร่วมด้วย

แนวทางป้องกันแก้ไข
การอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ
             1. ให้มีการศึกษาวางแผนการจัดการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น โครงการผันน้ำ โครงการเขื่อนเก็บกักน้ำใต้ดิน เพื่อเป็นการรองรับการใช้น้ำระยะยาว ซึ่งการวางแผนต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งทางด้านสังคมและสภาพแวดล้อมต้องมีการกำหนดนโยบายและแผนการแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
             2. กำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ โดยให้มีการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ของการใช้ทรัพยากรน้ำในระยะยาว รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
             3. ส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้และดูแลรักษาป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ แหล่งน้ำและต้นน้ำลำธาร รวมถึงการควบคุมอย่างเข้มงวดและการมีบทลงโทษอย่างรุนแรงต่อการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำลำธาร
             4. ให้ความสำคัญในการปรับปรุงแหล่งน้ำขนาดเล็ก รวมถึงการระมัดมะวังมิให้ นำพื้นที่ชลประทาน แหล่งน้ำธรรมชาติ ระบบชลประทานมาใช้เพื่อประโยชน์อื่น
              5. เสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ การใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้มีวินัยในการใช้น้ำอย่างถูกต้อง รวมทั้งการอนุรักษ์น้ำอย่างถูกวิธี ในช่วงฤดูแล้ง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าของทรัพยากรน้ำ
มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
                 การป้องกันและการจัดการกับปัญหาภัยแล้งที่เกิด ขึ้นเป็นประจำทุกปีจะช่วยลดความเสียหายและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ในระดับ หนึ่ง ซึ่งมาตรการและแนวทางการจัดการพื้นที่ประสบภัยแล้งสามารถแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น จะดำเนินการในฤดูแล้งหรือช่วงที่เกิดภัยแล้งขึ้นเป็นการเฝ้าระวังและติดตาม และเตือนภัยล่วงหน้าบริเวณพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งส่วนใน ระยะยาว นั้นเป็นการเสนอแนะแนวทางการป้องกันและการจัดการฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบภัย แล้งให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์
           ระยะสั้น
             1. การเตือนภัยแล้งในช่วงฤดูแล้ง
             2. เฝ้าระวังพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากเป็นพิเศษ
             3. รายงานสรุปพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้งหรือเสียหายเพื่อประเมินความเสียหายและให้การช่วยเหลือ
                 เบื้องต้น
            ระยะยาว
             1.ฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งโดยการส่งเสริมการอนุรักษ์ดินและน้ำเพิ่มการปกคลุมดินโดยการ   ปลูกพืชคลุมดินหรือพืชปุ๋ยสด และการปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการชะล้างพังทลายของดิน
             2.การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นาโดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทานเพื่อให้เกษตรกรใช้เก็บกัก น้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและเป็นการช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินด้วย
             3.เพิ่มอินทรีย์วัตถุในดินเพื่อเป็นการเพิ่มช่องว่างในดินทำให้ดินสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ และเพิ่มความ    อุดมสมบูรณ์ของดิน โดยใช้สารเร่งพืชในดินต่างๆ
              4.การเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่จะมีการเพาะปลูกพืชเพื่อให้เกษตรกรได้มีการวางแผนให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่
              5.การจัดระบบการปลูกพืชที่เหมาะสม เช่นการปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย และคัดเลือกพันธุ์พืชที่ทนแล้ง เหมาะสมกับท้องถิ่น
             6.การรักษาฟื้นฟูพื้นที่ป่าโดยเฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารรวมทั้งการปลูกไม้ยืนต้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น